วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพชรน้ำเอก วรรณคดีไทย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 พฤศจิกายน 2552









ถึงบางม่วงเห็นพวงมะม่วงห้อย
คิดจะสอยก็ไม่สมอารมณ์หมาย
จะปีนต้นเล่าก็ยากลำบากกาย
พี่นึกอายนิ่งอดเหมือนมดแดง
อดมะม่วงอดได้พี่ไม่อยาก
เป็นแต่ปากพูดแยบให้แอบแฝง
แต่อดชมพี่นี้ตรมอุราแรง
ไม่รู้แห่งที่จะอดซึ่งรสชม
ถึงชมอื่นก็ไม่ชื่นเหมือนชมน้อง
ประสบสองสมจิตสนิทสนม
ถึงจะได้ดอกฟ้าลงมาดม
ในอารมณ์ก็ยังไม่ยินดี
ไม่ชอบเหมือนทรามเชยที่เคยชิด
พี่ยังคิดถึงน้องให้หมองศรี
ไม่เห็นกันวันหนึ่งเหมือนครึ่งปี
หัวอกพี่ร้อนเริงดังเพลิงกอง
จาก นิราศพระแท่นดงรัง โดย นายมี

โอ้เจ้าแก้วกากีของพี่เอย
เพิ่งได้เชยได้ชมพอสมจิตร
ทิ้งนงคราญไว้วิมานนฤมิตร
เหมือนแกล้งปลิดเสน่ห์น้องให้หมองคอย
ผิใครกล้าคร่ารักผลักสวาดิ
ขอพิฆาตฆ่าตีไม่มีถอย
หญิงเช่นนี้ถึงสัตตรีมีนับร้อย
จะเหมือนน้อยหนึ่งได้ก็ไม่มี
กลิ่นเจ้าหอมยามเจ้ายอมให้ชมชื่น
จริตรื่นน่ารักปักทรวงพี่
นึกถึงยิ้มกริ่มถวิลยวนยินดี
ขุนปักษีคร่ำครวญจิตรวนเร
จาก บทละครเรื่องกากี โดย ประเสริฐอักษร









หอมใดมิเท่ากลิ่นสมร
มะลิซ้อนสายหยุดพุดประจักษ์
พิกุลแก้วพยอมหอมนัก
แต่รสรักหอมกว่าผกากรอง
ยามผการาร่วงดอกดวงโรย
ถึงลมโชยกลิ่นน้อยไม่ลอยล่อง
ส่วนสวาทคลาดชู้เป็นคู่ครอง
ก็หม่นหมองยิ่งกว่าผกาโรย
จาก ปล่อยแก่ : ร.๖

พี่ขอฝากความรักที่หนักอก
ช่วยปิดปกไว้แต่ในน้ำใจสมร
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้าและสาคร
อย่าม้วยมรณ์ไมตรีของพี่เลย
ขอฝากความเสน่หาสาพิภักดิ์
ภิรมญ์รักร่วมเรียงเคียงเขนย
ถึงตัวไปใจอยู่เป็นคู่เชย
เมื่อไรเลยจึงจะสมอารมณ์เรียม
จาก พระอภัยมณี : สุนทรภู่


เห็นบัวเรียงเคียงกันเป็นหลั่นลด
แสนกำสรดเศร้าสร้อยละห้อยหวล
ถึงบัวนุชสุดประนอมถนอมนวล
กลิ่นอบอวลชวนชื่นระรื่นชม
แม้บัวอื่นหมื่นแสนในแมนสรวง
ยังแพ้พวงบุปผาสุดาฉม
เรียมอาลัยแรมร้างห่างภิรมย์
แม่คงตรมใจเตรียมเหมือนเรียมตรอม
จาก นิราศนครสวรรค์ : ผัน นาคะวิโรจน์









ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาทไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่
เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาททุกชาติไป
จาก พระอภัยมณี : สุนทรภู่

บทร้อยกรองแสนจรุงใจที่ยกมาข้างต้น คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยจากหนังสือ 'วรรคทองในวรรณคดีไทย' ที่ อาจิณ จันทรัมพร ได้รวบรวมผลงานการประพันธ์อันทรงคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก

“เทิดทูนผลงานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองของนักประพันธ์ไทย” คือคำโปรยบนปกหนังสือ ที่สั้นกระชับ ครอบคลุม และอธิบายถึงแก่นสำคัญของหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างดี

เพราะตลอดทั้งเล่ม มากด้วยเนื้อความจากร้อยแก้วและร้อยกรองอันเปี่ยมความงดงามทางวรรณศิลป์ มีรสสัมผัสไพเราะเสนาะรื่นรมย์ ซึ่งนักประพันธ์ชั้นบรมครูได้เปรียบเปรยภาพพจน์รสรักและความถวิลหาได้อย่าง สะท้านอารมณ์ ท่านเหล่านั้น รจนาเนื้อคำอันวิจิตรบรรจงได้อย่างคู่ควรแก่การยกย่องให้เป็น 'วรรคทอง' อันทรงคุณค่าโดยแท้

แต่ใช่เพียงเท่านั้น ใช่เพียงอารมณ์ใคร่ครวญถวิลหาของบทร้อยกรอง ที่กวีถ่ายทอดไว้อย่างเปี่ยมชั้นเชิงทางภาษา แต่หนังสือเล่มนี้ ยังรวบรวมไว้ซึ่งเนื้อความร้อยแก้วที่มอบความงดงามและอรรถรสอันอิ่มเต็มให้ แก่ผู้อ่านได้ไม่น้อยไปกว่ากัน
ไม่ว่าเนื้อคำจากความคิดอันคมคายที่อยู่ยั้งพ้นยุคสมัยของ พุทธทาสภิกขุ, ศรีบูรพา, จิตร ภูมิศักดิ์, วิลาศ มณีวัต, สด กูรมะโรหิต, คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายผี, พรานบูรพ์, เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

ไม่เว้นแม้แต่วาทะอมตะของมหาบุรุษและนักปราชญ์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ อาทิ มหาตมะ คานธี, เกอเต้,หลู่ซิ่น, ฟรานซิส เบคอน

แม้กระทั่ง ผลงานของกวีนิรนามหลายท่าน ที่ฝากผลงานอันเปี่ยมความงามของภาษาและความจริงของชีวิต ก็ถูกนำมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน

หาก 'วรรณคดี' คือคำยกย่องอันสูงสุดที่มอบให้แก่ผลงานการประพันธ์ วรรคทองและเนื้อความทั้งมวลที่ อาจิณ จันทรัมพร รวบรวมไว้อย่างอุตสาหะ ก็ย่อมควรค่าแก่การได้รับเกียรตินั้นอย่างมิอาจโต้แย้ง

เพราะนอกเหนือไปจากความงามของรสสัมผัส หรือการเปรียบเปรยภาพพจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น 'นักเลงภาษา' แล้ว 'ความเป็นจริงของชีวิต' ที่ผู้อ่านสัมผัสได้จากงานประพันธ์เหล่านั้น ไม่ว่าอยู่ในรูปฉันทลักษณ์อันเลิศวิไลของบทร้อยกรอง หรือวาท ะเฉียบคมในงานร้อยแก้วก็ตาม










ไม่ว่าในบทบรรยายถึงความรักความพิศวาทปานจะกลืนกิน ในความหวานอันแสนหวานของ ยาขอบ ในความขมขื่นถึงเนื้อใจของ สด กูรมะโรหิต หรือแม้ในงานประพันธ์ที่มุ่งเน้นถึงหลักคุณธรรม การรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรี การดำรงตนให้สมคุณค่าของความเป็นคน
สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงอารมณ์หลากรสของแต่ละวรรคทองในหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย กันได้อย่างกลมกล่อม คือ 'การถ่ายทอดชีวิตผ่านมรดกทางภาษา' ที่คนรุ่นลูกหลานควรศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งและสืบทอดไว้ตราบนานเท่านาน

….........
ตัวหนอนบนกองหนังสือ

-หมายเหตุ 'วรรคทองในวรรณคดี' รวบรวมโดย 'อาจิณ จันทรัมพร' จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แม่คำผาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น